วิธีใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกต้อง
1. ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่อย่างน้อย 20 วินาที หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้น 70% ขึ้นไป
2. จับสายทั้งสองข้างคล้องหู สวมคลุมทั้งบริเวณจมูก ปาก และคาง
3. ใส่ให้ด้านที่สีเข้มอยู่ด้านนอก ด้านสีอ่อนอยู่ด้านใน ขอบลวดจะอยู่ด้านบน
4. หากเป็นแบบที่ไม่มีสี ให้สังเกตรอยจีบบนหน้ากาก ด้านที่รอยจีบพับลงจะอยู่ด้านนอก
5. กดลวดให้แนบสนิทกับสันจมูก
6. จัดหน้ากากอนามัยให้พอดีกับใบหน้า โดยหลีกเลี่ยงการจับตรงกลางหน้ากากเพราะอาจมีการปนเปื้อน
7. เช็กว่าหน้ากากแนบสนิทกับใบหน้า โดยใช้มืออังรอบๆ ขอบหน้ากากแล้วหายใจออกแรงๆ หากมีลมออกรอบจมูก ให้ปรับลวดตรงจมูกให้แน่นขึ้น หากมีลมออกด้านข้าง ควรปรับสายรัดและหน้ากากให้พอดี
ประเภทของหน้ากากอนามัย
หน้ากากอนามัยที่นิยมใช้ในปัจจุบันมีทั้งหมด 7 ประเภท แต่ไม่ใช่ทุกประเภทจะสามารถป้องกันฝุ่น PM2.5 และเชื้อไวรัส COVID-19 ได้ มาดูรายละเอียดของแต่ละประเภทกัน
1. หน้ากากอนามัย N95
หน้ากากอนามัย N95 มีประสิทธิภาพป้องกันเชื้อโรคและฝุ่นสูงกว่าหน้ากากอนามัยแบบทั่วไป เนื่องจากมีลักษณะเป็นฝาครอบจมูกและปากมิดชิดและค่อนข้างแน่น บางรุ่นจึงมีวาล์วระบายอากาศให้หายใจได้สะดวกและระบายความร้อน
หน้ากากอนามัย N95 ผลิตจากโพลีโพรพีลีน (Polypropylene) มีประสิทธิภาพในการดักจับอนุภาคขนาดเล็ก PM2.5 และ PM10 ไม่น้อยกว่า 95% ใช้งานได้สูงสุด 2-3 วัน แต่หากเปลี่ยนทุกวันจะดีที่สุด
ข้อควรระวัง
หน้ากากอนามัย N95 อาจทำให้หายใจไม่สะดวก ไม่ควรใส่ขณะออกกำลังกาย หากไม่ใช่แบบที่ซักได้ก็ไม่ควรนำมาซัก เพราะจะลดประสิทธิภาพในการกรองได้
2. หน้ากากอนามัย FFP1
หน้ากากอนามัย FFP1 มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับหน้ากากอนามัย N95 สามารถช่วยป้องกันฝุ่น เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรัสได้อย่างดี ดักจับอนุภาคขนาดเล็ก PM2.5 และ PM10ไม่น้อยกว่า 94% นอกจากนี้ยังมีประสทธิภาพที่ต่างจากหน้ากากอนามัย N95 คือ สามารถป้องกันสารเคมีและฟูมโลหะได้อีกด้วย
3. หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (หน้ากากแบบทั่วไป)
หน้ากากอนามัยทางการแพทย์เป็นที่นิยมมาก เพราะหาซื้อง่ายและถูก มี 2 แบบ คือ แบบที่ผลิตจากผ้าฝ้ายและแบบที่ผลิตจากใยสังเคราะห์ ด้านนอกมักเป็นสีเขียวหรือฟ้า แต่ก็มีแบบสีขาวทั้ง 2 ด้านเช่นกัน
หน้ากากอนามัยทางการแพทย์สามารถป้องกันฝุ่น เกสรดอกไม้ขนาดตั้งแต่ 3 ไมครอนขึ้นไป ป้องกันเชื้อรา เชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียที่ปนมากับละอองน้ำมูกหรือน้ำลายได้ 99%
จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หน้ากากอนามัยทางการแแพทย์ป้องกันฝุ่น PM2.5 ได้เพียง 66.37% หากใส่ 2 ชิ้นซ้อนกัน ประสิทธิภาพจะเพิ่มขึ้นเป็น 89.75%
ข้อควรระวัง
หน้ากากอนามัยทางการแพทย์มีอายุการใช้งานสั้น ไม่ควรใช้ซ้ำหลายๆ ครั้ง เพราะอาจเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคได้ ไม่ควรนำมาซักเพื่อใช้ซ้ำ ควรใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง
4. หน้ากากอนามัยแบบคาร์บอน
หน้ากากแบบคาร์บอนมีสีเทา ประสิทธิภาพไม่ต่างจากหน้ากากอนามัยทางการแพทย์มากนัก แต่ต่างกันที่เยื่อชั้นคาร์บอนช่วยกรองกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้มากกว่า มีเส้นใยสังเคราะห์ถึง 4 ชั้น
5. หน้ากากผ้า
หน้ากากผ้ามีหลากหลายรูปแบบให้เลือก สามารถป้องกันฝุ่นละอองทั่วไปที่ขนาดใหญ่กว่า 3 ไมครอน แต่ไม่สามารถป้องกันฝุ่น PM2.5 ได้ ส่วนเชื้อไวรัส COVID-19 นั้น แม้จะป้องกันได้เพียง 54-59% แต่หากเป็นบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้ป่วย กรมอนามัยก็แนะนำว่าสามารถใช้ทดแทนในกรณีที่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ขาดแคลนได้
“หน้ากากผ้า อย่างผ้าฝ้าย ผ้าใยสังเคราะห์ ผ้าสาลู กลุ่มนี้สามารถนำมาผลิตเป็นหน้ากากผ้าได้ ยิ่งซักยิ่งเล็ก เพราะใยจะออกมาเหลือประมาณ 1 ไมครอน โดยไวรัสโควิด-19 ขนาดอยู่ที่ 5 ไมครอน ซึ่งไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ได้ถึง 54-59% ถือว่าเพียงพอสำหรับคนทั่วไปที่ใช้ในพื้นที่แออัด โดยเรานำมาใช้และซักใหม่ได้ การจะเข้าถึงหน้ากากผ้าได้ด้วยการประดิษฐ์ง่าย ๆ ซึ่งกรมอนามัยได้ทำคลิปวิดีโอสอนเอาไว้ จึงขอเชิญชวนทุกคนหันมาทำหน้ากากผ้ากันเองดีกว่า โดยกรมอนามัย จับมือกับสำนักงานสาธารณสุขทั่วประเทศ เชิญชวนประชาชน มาเป็นจิตอาสาร่วมกันประดิษฐ์หน้ากากผ้ากัน” รองอธิบดีกรมอนามัย นพ.บัญชา ค้าของ กล่าว
หน้ากากผ้าที่ดีควรหนาอย่างน้อย 2 ชั้น และผ้าที่ดีที่สุดสำหรับการทำหน้ากากผ้า คือ ผ้าฝ้ายมัสลิน
6. หน้ากากฟองน้ำ
หน้ากากฟองน้ำ สามารถป้องกันเชื้อแบคทีเรีย ฝุ่นละออง เกสรดอกไม้ แต่ไม่สามารถป้องกันฝุ่น PM 2.5 และเชื้อไวรัส COVID-19 ได้ ถ้าดูจากประสิทธิภาพการป้องกันแล้ว หน้ากากฟองน้ำจะเหมาะกับการใส่เพื่อแฟชั่นซะมากกว่า
เปรียบเทียบหน้ากากอนามัยแต่ละประเภท
เด็กเล็กใส่หน้ากากอนามัยได้ไหม
เด็กแรกเกิด-1 ปี
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า “เด็กทารกแรกเกิด-1 ปี ไม่ควรสวมหน้ากาก เพราะเด็กเล็กระบบการหายใจยังไม่แข็งแรงพอ เสี่ยงภาวะคาร์บอนไดออกไซด์คั่งได้ เนื่องจากทารกแรกเกิดหายใจทางจมูกเป็นหลัก ยังไม่มีความสามารถในการหายใจชดเชยด้วยการอ้าปากหายใจได้ เมื่อมีการขาดอากาศ หรือออกซิเจน จะมีโอกาสเกิดการสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เกิดอันตรายต่อระบบประสาทของทารกได้”
“สิ่งสำคัญ คือ ไม่ควรนำทารกแรกเกิดออกนอกบ้าน ยกเว้นการพาไปฉีดวัคซีนตามกำหนด หรือไปพบแพทย์เมื่อมีอาการป่วย โดยแนะนำให้อุ้มแนบกับอก หรือนำเด็กใส่รถเข็นที่มีผ้าคลุมปิด เว้นระยะห่างจากผู้อื่นในระยะ 2 เมตรอย่างเคร่งครัด และให้งดการหอมแก้มเด็ก และใกล้ชิดเด็กมากเกินไป”
เด็กอายุ 1-2 ปี
เด็กอายุ 1-2ปี สามารถใส่หน้ากากอนามัยได้ เนื่องจากเด็กบางคนสามารถถอดหน้ากากได้เองเมื่อรู้สึกอึดอัด แต่หากเด็กมีกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือมีความบกพร่องทางสมอง หรือเหตุใดๆ ก็ตามที่ทำให้เด็กไม่สามารถถอดหน้ากากเองได้ ควรดูแลอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม เด็กวัยนี้ควรใส่หน้ากากในระยะเวลาที่สั้นที่สุด
เด็กอายุ 2 ปีขึ้นไป
เด็กอายุ 2 ปีขึ้นไป สามารถใส่หน้ากากอนามัยได้ แต่พ่อแม่ก็ควรดูแลลูกอย่างใกล้ชิดเช่นกัน
ขอบคุณข้อมูลจาก
ddc.moph.go.th
lpch.go.th
hfocus.org
thairath.co.th