26.3 C
Thailand
Wednesday, November 6, 2024
Homeการเรียน-ทำงานวิธีเขียนเรซูเม่ (Resume) ให้โดดเด่น น่าสนใจ ได้งานชัวร์

วิธีเขียนเรซูเม่ (Resume) ให้โดดเด่น น่าสนใจ ได้งานชัวร์

เรซูเม่ (Resume/Résumé) คืออะไร?

เรซูเม่ (Resume/Résumé) คือ ประวัติโดยย่อของบุคคลสำหรับใช้สมัครงาน ประกอบด้วยข้อมูลสำคัญของผู้สมัคร เช่น ชื่อ-นามสกุล ประวัติการศึกษา ประสบการณ์การทำงาน ความสามารถที่เกี่ยวข้องกับงาน ฯลฯ มักมีความยาวประมาณ 1-2 หน้ากระดาษ A4 เรซูเม่ถือเป็นประตูบานแรกที่จะสร้างความประทับใจให้นายจ้าง จึงจำเป็นต้องเขียนให้น่าสนใจและสมบูรณ์ที่สุด

องค์ประกอบของเรซูเม่แบ่งได้เป็น 7 ส่วน ดังนี้

1. ประวัติส่วนตัว (Personal information)

1.1 ชื่อ-นามสกุล

  • ชื่อ-นามสกุล ควรอยู่ตำแหน่งที่เห็นชัดเจน
  • ใช้ขนาดฟอนต์ใหญ่กว่าข้อความส่วนอื่น
  • ใช้สีเข้มที่เห็นชัดเจนแม้ปรินต์ออกมาเป็นสีขาว-ดำ
  • ไม่ควรใส่ชื่อเล่นในเรซูเม่

1.2 ที่อยู่ อีเมล เบอร์โทรศัพท์ และช่องทางติดต่ออื่นๆ

  • ระวังไม่ให้เขียนอีเมลและเบอร์โทรศัพท์ผิด
  • ใช้ชื่ออีเมลที่เป็นทางการ หากไม่มี ให้สมัครใหม่
  • สามารถใส่ URL ของ LinkedIn พอร์ตโฟลิโอ และเว็บไซต์ส่วนตัวได้

1.3 รูปถ่ายสุภาพ

  • ไม่จำเป็นต้องใส่เครื่องแบบ แต่ต้องแต่งกายสุภาพ
  • ขนาดของรูปภาพไม่ควรใหญ่เกินไป
  • รูปภาพอาจสร้างอคติในการตัดสินใจแก่ผู้ว่าจ้างได้ หากไม่มีรูปที่เหมาะสมหรือไม่แน่ใจ เราแนะนำว่าไม่ควรใส่จะดีกว่า

2. ตำแหน่งงานที่สมัคร

  • ควรใส่ชื่อตำแหน่งงานให้เหมือนใน Job description
  • ในกรณีที่ส่งเรซูเม่ไปหลายที่ ควรตรวจเช็กชื่อตำแหน่งงานทุกครั้ง
  • ไม่ควรใส่เงินเดือนที่ต้องการในเรซูเม่ ยกเว้นบริษัทแจ้งให้ใส่

3. เกริ่นนำ (Resume introduction)

ส่วนเกริ่นนำ 3- 5 บรรทัดในช่วงต้นของเรซูเม่ช่วยแสดงความน่าสนใจของคุณออกมาอย่างกระชับ เป็นส่วนหนึ่งที่ HR จะดูเป็นอันดับแรกๆ เราสามารถเขียนออกมาได้ 2 รูปแบบดังนี้

3.1 สรุปประเด็นสำคัญของเรซูเม่ (Resume summary)

  • หน้าที่และความเชี่ยวชาญในสายงาน เช่น ทำงานเป็นหัวหน้าในสายงานนี้มา 10 ปี
  • ทักษะ ความรับผิดชอบและความสำเร็จ เช่น สามารถใช้เครื่องมือ ABC สร้างเพิ่มยอดขาย 200% ภายใน 1 ปี

3.2 จุดประสงค์ในการทำงาน (Career objective)

  • หน้าที่และความเชี่ยวชาญในสายงาน
  • ประสบการณ์ ประวัติการศึกษา และรางวัลต่างๆ ที่แสดงถึงความมุ่งมั่นในสายงานด้านนี้
  • อธิบายว่าจะใช้ความรู้ความสามารถที่มีช่วยเหลือองค์กรได้อย่างไร

4. ประวัติการทำงาน / กิจกรรมสมัยเรียนที่เคยทำ (Work experience)

เลือกใส่เฉพาะประวัติการทำงานที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งที่สมัคร โดยเอาประวัติการทำงานล่าสุดขึ้นก่อน ให้ความสำคัญกับประวัติการทำงานที่เกี่ยวข้องที่สุด ส่วนงานอื่นๆ อาจไม่จำเป็นต้องใส่รายละเอียดมากนัก หากจบใหม่และไม่เคยฝึกงาน ให้เลือกกิจกรรมสมัยเรียนที่เกี่ยวข้องกับงานหรือนำมาประยุกต์ได้ สำหรับรายละเอียดที่ควรใส่ มีดังนี้

  • ชื่อตำแหน่ง
  • ชื่อบริษัท
  • ช่วงเวลาที่ทำงาน (ปี เดือน)
  • ขอบเขตงานที่ทำและความสำเร็จ 3-5 ข้อ

5. ประวัติการศึกษา (Education)

เริ่มต้นด้วยระดับการศึกษาสูงสุดก่อนแล้วตามด้วยระดับรองลงมา ควรบอกชื่อสถานศึกษา สาขา ระยะเวลาที่เรียน และผลการศึกษา

  • ปริญญาเอก
  • ปริญญาโท
  • ปริญญาตรี (ถ้าได้เกียรตินิยมควรใส่ด้วย)
  • ทุนการศึกษาที่ได้รับหรือทุนวิจัยในระดับอุดมศึกษา

6. ทักษะและความสามารถพิเศษ (Skills)

  • ควรใส่แต่ทักษะที่น่าจะเกี่ยวข้องกับงานเท่านั้น
  • ทักษะด้านภาษา (ควรบอกระดับ เช่น พอใช้ ดี ดีมาก และถ้ามีคะแนนสอบวัดระดับของภาษานั้นด้วยจะยิ่งดี)
  • การใช้โปรแกรมและเครื่องมือในคอมพิวเตอร์ต่างๆ
  • การขับรถ

7. ประวัติการเข้าร่วมอบรม รางวัล และ Certificate ต่างๆ

  • ควรเรียงจากประวัติล่าสุดก่อน
  • ควรเลือกประวัติที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งที่สมัคร

หลักการเขียนเรซูเม่ที่ดี

  1. เลือก template ที่สวยแต่เรียบง่าย มีเฉพาะองค์ประกอบที่จำเป็น
  2. เลือกใช้ฟอนต์ที่อ่านง่าย สบายตา สีตัวอักษรเข้มพอที่จะยังอ่านได้ชัดเจน แม้ปรินต์ออกมาแล้วนำไปถ่ายเอกสาร
  3. เช็กให้ดีว่าไม่มีคำผิดหรือเขียนตกหล่น โดยเฉพาะช่องทางการติดต่อ
  4. สำหรับเรซูเม่ภาษาอังกฤษ ถ้าไม่แน่ใจว่าเขียนถูกไวยากรณ์หรือไม่ ควรอ้างอิงเค้าโครงจาก template และใช้โปรแกรมด้านภาษาช่วย เช่น ChatGPT หรือ Grammarly
  5. ควรปรับแต่งเรซูเม่ตามตำแหน่งและบริษัทที่สมัคร ไม่ควรใช้เวอร์ชันเดียวแล้วส่งหว่านไปทั่ว
  6. พยายามเขียนข้อมูลให้สอดคล้องกับ Job description ของตำแหน่งที่สมัคร
  7. หลีกเลี่ยงการใส่ข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งที่สมัคร และอ่านให้ดีๆ ว่าในประกาศรับสมัครต้องการให้เราระบุข้อมูลอะไรลงไปบ้าง เช่น อายุ เงินเดือนที่ต้องการ ใบขับขี่ ฯลฯ
  8. ส่งเป็นไฟล์ .pdf เท่านั้น และตั้งชื่อไฟล์ให้ชัดเจนและเป็นมืออาชีพ โดยบอกตำแหน่งที่สมัครและชื่อ-นามสกุลของเรา
  9. เวลาส่งเรซูเม่ ควรแนบจดหมายสมัครงาน (Cover letter) เพื่อแสดงให้เห็นความพร้อมและความตั้งใจ

ตัวอย่างเรซูเม่

ตัวอย่างการเขียนเรซูเม่ (Resume) 1
ตัวอย่างการเขียนเรซูเม่ (Resume) 2
ตัวอย่างการเขียนเรซูเม่ (Resume) 3
ตัวอย่างการเขียนเรซูเม่ (Resume) 4

บทความที่เกี่ยวข้อง

ห้ามพลาด